ญาณ ๑๖ หรือโสฬสญาณ เป็นการรวบรวมลำดับญาณขึ้นในภายหลังโดยพระอรรถกถาจารย์ เพื่อเป็นการจำแนกให้เห็นลำดับญาณหรือรู้ภูมิธรรมทางปัญญาที่เกิดขึ้น วิปัสสนาญาณ หมายถึง ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือเห็นประจักษ์แจ้งซึ่งไตรลักษณ์แห่งรูป นาม ได้แก่
ญาณที่ ๑ ญาณกำหนดนามรูป เรียกว่า
นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นญาณที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องรูปธรรม นามธรรม คือ มองเห็นความต่างกันของธรรมชาติ ๒ อย่าง คือเห็นรูปก็เป็นลักษณะธรรมชาติอย่างหนึ่ง เห็นนามก็เป็นลักษณะธรรมชาติอย่างหนึ่ง
ญาณที่ ๒ ญาณกำหนดเหตุปัจจัยของนามรูป เรียกว่า
ปัจจยปริคคหญาณ คือ เห็นเหตุปัจจัยของรูป นาม คือจะเห็นว่ารูป นามนี้เป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน มีความเกี่ยวข้องเป็นปัจจัยกัน เช่น ขณะที่การก้าวไปๆ การคู้ การเหยียด การเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นไปเพราะว่ามีธรรมชาติอย่างหนึ่งเป็นตัวเหตุปัจจัย คือมีจิต จิตปรารถนาจะให้กายเคลื่อนไหว กายก็เคลื่อนไหวไป จิตปรารถนาจะยืน กายก็ยืน จิตปรารถนาจะเดิน กายก็เดิน จิตปรารถนาจะนอน กายก็นอน คือลมก็ไปผลักดันให้กายนั้นเป็นไป อย่างนี้เรียกว่า นามเป็นปัจจัยให้เกิดรูป นามคือจิตใจ เป็นปัจจัยให้เกิดรูป
ญาณที่ ๓ ญาณพิจารณานามรูปด้วยหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่า
สัมมสนญาณ เป็นญาณที่เห็นไตรลักษณ์ คือเห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงของรูป นาม ทุกขัง คือความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ของรูป นาม เห็นอนัตตา ความบังคับบัญชาไม่ได้ของรูป นาม แต่ว่าการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในญาณที่ ๓ นี้ยังเอาสมมุติบัญญัติมาปนยังมีสุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการได้ฟังมา เอาจินตามยปัญญาความตรึกนึกคิดมาปนอยู่ด้วย
ญาณที่ ๔ ญาณหยั่งรู้ความเกิดดับแห่งนามรูป เรียกว่า
อุทยัพพยญาณ แบ่งเป็นอุทยัพพยญาณอย่างอ่อน คือจะทำให้เกิดวิปัสสนูปกิเลส คือกิเลสที่จะทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง ทำให้วิปัสสนาไม่เจริญขึ้น ไม่ก้าวหน้า ส่วนอุทยัพพยญาณอย่างแก่ คือปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นไตรลักษณ์ชัดเจนจนสันตติขาด คือ เห็นรูป นามดับไปทันทีที่ดับ และเห็นรูป นามเกิดขึ้นในขณะที่เกิด หมายความว่า เห็นทันทั้งในขณะที่เกิดและขณะที่ดับ
ญาณที่ ๕ ญาณหยั่งเห็นชัดความดับ เรียกว่า
ภังคญาณ เป็นญาณที่เห็นแต่ฝ่ายดับ เห็นรูป นามนั้นดับไปด้วยความรวดเร็ว เพราะรูป นามเกิด - ดับถี่มาก
ญาณที่ ๖ ญาณมองเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว เรียกว่า
ภยญาณ จะเห็นรูป นามที่มันดับไป และเกิดความรู้สึกว่ารูป นามเป็นภัยเสียแล้ว จากที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน
ญาณที่ ๗ ญาณเห็นโทษของสังขาร เรียกว่า
อาทีนวญาณ เป็นญาณที่เกิดความรู้สึก ในขณะที่เห็นรูป นามดับไปว่าเป็นโทษ นอกจากจะเห็นภัยแล้ว ยังรู้สึกว่าเป็นโทษอีก
ญาณที่ ๘ ญาณเห็นความเบื่อหน่าย เรียกว่า
นิพพิทาญาณ เป็นญาณที่รู้สึกเบื่อหน่าย ในเมื่อรูป นามที่เป็นภัยเป็นโทษ ไม่ได้ติดใจในรูป นามนี้ แต่ก็ไม่หนี ไม่ท้อถอย ก็ยังคงเพียรต่อไป
ญาณที่ ๙ ญาณเห็นความปรารถนาพ้นทุกข์ เรียกว่า
มุญจิตุกัมยตาญาณ เป็นญาณที่เกิดความรู้สึกอยากจะหนีให้พ้นจากความเบื่อ เหมือนคนที่อยู่ในกองเพลิงแล้วอยากจะไปให้พ้นจากกองเพลิงเหล่านี้
ญาณที่ ๑๐ ญาณพิจารณาทบทวนหาทางพ้นทุกข์ เรียกว่า
ปฏิสังขาญาณ ในญาณนี้จะหาทางว่าทำอย่างไรถึงจะหลุดพ้นไปได้ จึงพิจารณาหาทางออกจากทุกข์
ญาณที่ ๑๑ ญาณวางเฉยต่อสังขารทั้งปวง เรียกว่า
สังขารุเปกขาญาณ ญาณนี้มีลักษณะวางเฉยต่อรูป นาม คือเมื่อกำหนดรู้และหางหนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น จึงต้องดูเฉยอยู่ ซึ่งเป็นผลทำให้จิตเข้าสู่การวางเฉยได้แม้จิตจะถูกบีบคั้นอย่างหนัก ไม่เหมือนบุคคลทั่วไปจะดิ้นรน กระสับกระส่ายแทบขาดใจเมื่อเห็นโทษภัย
ญาณที่ ๑๒ ญาณทำความเห็นให้สอดคล้องกับหลักอริยสัจ เรียกว่า
อนุโลมญาณ คือ ญาณที่เป็นไปตามอำนาจกำลังของอริยสัจที่จะสอดคล้องต่อไปในโลกุตตรญาณ
ญาณที่ ๑๓ ญาณทำให้พ้นภาวะปุถุชน เรียกว่า
โคตรภูญาณ คือ ญาณที่มีหน้าที่โอนโคตรจากปุถุชนก้าวสู่ความเป็นอริยะ ในขณะนั้นจะทิ้งอารมณ์ที่เป็นรูป นาม ไปรับนิพพานเป็นอารมณ์
ญาณที่ ๑๔ ญาณรู้แจ้งในอริยมรรค เรียกว่า
มัคคญาณ ญาณนี้เป็นโลกุตตรญาณ จะทำหน้าที่ประหารกิเลสระดับอนุสัยกิเลส ทำหน้าที่รู้ทุกข์ ละเหตุแห่งทุกข์ แจ้งนิโรธความดับทุกข์ เจริญตนเองเต็มที่ คือองค์มรรค ๘ มีการประชุมพร้อมกัน ทำหน้าที่ละอนุสัยกิเลสแล้วก็ดับลง มีนิพพานเป็นอารมณ์
ญาณที่ ๑๕ ญาณรู้แจ้งในอริยผล เรียกว่า
ผลญาณ เป็นโลกุตตรญาณที่เกิดขึ้นจากผลของมัคคญาณ ทำหน้าที่รับนิพพานเป็นอารมณ์เพียงสองขณะ แล้วก็ดับลง
ญาณที่ ๑๖ ญาณใคร่ครวญทบทวนรู้ชัดตามขั้นตอน เรียกว่า
ปัจจเวกขณญาณ เป็นโลกิยญาณที่พิจารณามรรค ผล นิพพานที่ตนเองได้จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา และจะรู้ว่ากิเลสใดที่ละไปได้แล้ว กิเลสใดยังเหลืออยู่
กรรมฐานแนวนี้ต้องอาศัยทวนญาณบ่อยๆ จะทำให้เกิดความชำนาญในการปรับแต่งอินทรีย์ด้วยตนเองเพื่อให้เกิดความสมดุล แล้วจะพัฒนาการปฏิบัติต่อไปได้ เมื่อพอเข้าใจหลักแล้ว อยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติได้ เพราะสามารถปรับแต่งอินทรีย์ตัวเองได้แล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
เหมือนเราสอบใบขับขี่ได้แล้ว สามารถขับรถตามท้องถนนได้แล้ว ที่เหลือคือการสะสมประสบการณ์ ถ้าเราขับรถบ่อยๆ มีชั่วโมงบินสูง ก็จะคล่องในการถอยหน้าถอยหลัง ยิ่งถ้าเราขับรถต่อเนื่องสม่ำเสมอทุกวัน เราก็จะเกิดความชำนาญโดยอัตโนมัติไปเอง